What I found in Miraikan

สวัสดีครับ
วันนี้ขอไม่โพสอะไรเนิร์ดๆ แต่อยากพูดคุยนิดหน่อยกับความประทับใจที่ไปเจอมาใน Miraikan
พูดถึง Miraikan อาจจะมีบางท่านไม่ทราบว่าคืออะไร Miraikan เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่จัดแสดงนวัตกรรมและงานวิจัยที่เด่นๆ ของญี่ปุ่น รวบรวมมาจากหลายห้องวิจัยดังๆ ในประเทศ ซึ่งเค้ามีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมโยงว่างานวิจัยเหล่านี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นได้อย่างไรในอนาคต
คำว่า Miraikan เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นคือ 未来館 ( 未来 = อนาคต, 館 = ตึก อาคาร)
ท่านใดอยากอ่านเพิ่มเติมว่าที่ Miraikan มีกิจกรรมอะไรบ้าง เข้าไปดูได้เวปไซต์ของMiraikan ครับ:)

ถ้าเข้าไปใน Miraikan แล้ว ที่เห็นว่าเป็นจุดถ่ายภาพที่เด่นที่สุด ก็คือจอภาพทรงกลมขนาดยักษ์ ซึ่งปรกติแล้วก็จะมี default เป็นโลกของเรานั่นเอง

ภายในอาคารก็มีผลงานวิจัยในหลายๆ สาขา ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ พลังงานสะอาด อวกาศ ฯลฯ 
แต่สิ่งที่ผมประทับใจจริงๆ แล้วเกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นส่วนของห้องทดลองวิทยาศาสตร์ โดยเค้าจะมีกิจกรรมให้เด็กๆ ป.5 ขึ้นไปสามารถสมัครเข้าร่วมได้ เพื่อมาเข้าคอร์สครึ่งวันทำการทดลอง สร้างหุ่นยนต์อะไรทำนองนี้ ซึ่งวันที่ผมไปเป็นหัวข้อเรื่อง “Conductive Plastic” หรือ “พลาสติกนำไฟฟ้า”

ซึ่งวิทยากรที่มาสอนเด็กๆ ในวันนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นศ.ฮิเดคิ ชิรากาวะ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 2000 ในการค้นพบ “Conductive Polymer” นั่นเอง
ประวัติของศ.ฮิเดคิ ชิรากาวะ ในเวปรางวัลโนเบล 
ลองไปดูบรรยากาศการสอนเด็กๆ ของศ.ชิรากาวะกันครับ
 
รูปบนซ้าย เป็นป้ายแปะด้านหน้าประตูเกี่ยวกับหัวข้อที่เด็กๆ กำลังเรียนในวันนี้ครับ บรรยายโดยอ.ชิรากาวะ ส่วบนขวาก็เป็นบรรยากาศภายในห้องที่เราสามารถยืนดูกิจกรรมข้างในได้ผ่านกระจก

 
ตอนที่ไปถ่ายรูปนี่กำลังใช้สาร PEDOT อยู่ ซึ่งนิยมใช้กันใน Flexible electrode ส่วนรูปด้านขวาเป็นบรรยากาศที่อ.ชิรากาวะกำลังสอนเด็กๆ

                        
รูปซ้าย นักวิทยาศาสตร์สาวๆ ก็มีนะ (เข้าใจว่าเป็นเด็กใน Lab อ.แก) ส่วนรูปขวาก็คืออ.ชิรากาวะ

   สรุปแล้วสาเหตุที่ผมประทับใจก็คือ เด็กๆ ญี่ปุ่นได้มีโอกาสลองทำ Wet Lab ด้วยอุปกรณ์และสารเคมีจริงจังตั้งแต่เด็ก โดยมีผู้ที่มาสอนก็คือคนที่เชี่ยวชาญในหัวข้อวิจัยนั้นที่สุดในโลก
   ประเทศญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 127 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรไทยไม่ถึง 2 เท่า และคนทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้เป็นพวกนักวิทยาศาสตร์ไปทั้งหมด เพราะคนที่เป็นพนักงานบริษัท แม่บ้าน ชาวบ้านขูดหวย พวกที่เชื่อว่ากินปลาดิบแล้วดีจริง ใส่เพาเวอร์บาลานซ์แล้วช่วยได้จริง รวมแล้วก็มีมากกว่าครึ่ง…
   ….แต่คำถามก็คือทำไมในทุกๆ 5 ปีจะมีชื่อนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างน้อย 1 คนไปติดอยู่ในทำเนียบรางวัลโนเบล?
    ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะมีขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างยิ่งยวด? ทำอย่างไรเราจึงจะมีองค์ความรู้ทางวิศวกรรมเป็นของตนเอง เช่นสร้างเฮลิคอปเตอร์ได้เอง? ทำอย่างไรเราจะเพิ่มอัตราส่วน GDP ที่เกิดขึ้นจากธุรกิจของไทยให้มากกว่าทุนต่างชาติ?

    ผมว่าถ้าเมื่อไหร่เรามีคำตอบให้กับเรื่องนี้ และเราทุกคนพยายามอย่างยิ่งที่จะตอบคำถามนี้
         …เมื่อนั้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทคงไม่ใช่ฝันไปครับ อิๆ 🙂

ก็ขอจบ blog นี้ด้วยคำคมที่เจอบนกำแพงภายใน Miraikan ครับ                                           “Kagaku ga wakaru, Segai ga kawaru” 
                                      “เมื่อใดที่เข้าถึงวิทยาศาสตร์ โลกก็จะเปลี่ยนไป”

This entry was posted in Daily Experience. Bookmark the permalink.

Leave a comment